ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งมีความรวดเร็ว รุนแรง และยาวนานกว่า 2 ระลอกแรก เห็นได้ชัดว่า หน่วยบริการ-โรงพยาบาลต่างระดมสรรพกำลัง-ทรัพยากรออกมาเพื่อดูแลประชาชนอย่างเต็มความสามารถ 
 
 ในแง่หนึ่ง ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่า หากติดเชื้อขึ้นมาก็จะเข้าสู่การรักษาพยาบาลได้ ทว่าในอีกแง่หนึ่ง เกิดเป็นความกังวลขึ้นมาคู่ขนาน  
 
คำถามคือ เมื่อโรงพยาบาลทุ่มหน้าตักให้กับโควิด-19 แล้ว จะยังมีที่เหลือสำหรับให้การรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ หรือไม่ 
 
มีคำอธิบายจาก พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ผ่านการพูดคุยในหัวข้อ คุณภาพและความปลอดภัยโรงพยาบาล ในสถานการณ์ COVID-19 การดูแล “ผู้ป่วยติดเชื้อ” “ผู้ป่วยทั่วไป” และ “บุคลากรทางการแพทย์” เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา 
 
พญ.ปิยวรรณ ยืนยันพร้อมทั้งให้ความมั่นใจว่า ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคใดก็ขอให้อุ่นใจและไว้วางใจว่า ทุกโรงพยาบาลได้พยายามวางระบบรองรับเรื่องนี้ 
 
--- รพ.จัดระบบ-พร้อมรักษาทุกโรค --- 
 
พญ.ปิยวรรณ อธิบายว่า ในสถานการณ์โควิด-19 แต่ละโรงพยาบาลได้จัดวางระบบและปรับแผนเพื่อดูแลผู้ป่วยทุกโรคอย่างครอบคลุม ทั้งผู้ที่ป่วยเป็นโควิด-19 และผู้ที่ป่วยเป็นโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โควิด-19 จึงขอให้ประชาชนอุ่นใจ มั่นใจ และไว้วางใจโรงพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขในเรื่องนี้ 
 
สำหรับการดูแล “ผู้ป่วยที่ไม่ได้ป่วยเป็นโควิด-19” โรงพยาบาลทุกแห่งได้มีการปรับรูปแบบและวิธีการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง มีการจัดกลุ่มบริการ และได้นำเทคโนโลยี ตลอดจนวิธีการรักษาที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง 
 
“โรงพยาบาลจะมีการจัดกลุ่มผู้ป่วย ว่ากลุ่มใดจำเป็นต้องมารับรักษาที่โรงพยาบาล กลุ่มใดสามารถดูแลรักษาต่อเนื่องได้ที่บ้าน หรือกลุ่มใดที่เจ็บป่วยฉุกเฉินก็ได้ตระเตรียมความพร้อมสำหรับดูแลเป็นการเฉพาะ” พญ.ปิยวรรณ อธิบาย 
 
พญ.ปิยวรรณ อธิบายต่อไปว่า โรงพยาบาลจะมีการสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการจัดกลุ่มบริการ ตลอดจนมีระบบคัดกรองด้วยการประเมินว่าผู้ป่วยรายนั้นๆ มีความจำเป็นเร่งด่วนมากน้อยแค่ไหน ในบางที่จะแบ่งเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง โดยพิจารณาจากโรค-อาการ เพื่อที่จะกระจายการเข้าถึงให้สอดคล้องกับผู้ป่วย  
 
อย่างไรก็ดี ตามจริงแล้วโรงพยาบาลจะมีเครือข่ายหน่วยบริการที่หลากหลาย ฉะนั้นการที่ไม่ได้เข้าไปรับการรักษายังโรงพยาบาลจึงไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้รับการรักษา ที่สำคัญคือโรงพยาบาลได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนจำนวนมาก เช่น ระบบแพทย์ทางไกล-โทรเวชกรรม (Telemedicine) การจ่ายยาให้ถึงบ้าน การดูแลรักษาและติดตามอาการจากที่บ้าน ฯลฯ 
 
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินก็ยังสามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลได้ ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลได้จัดสรรทีมบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยและทันท่วงที 
 
“ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าอาการป่วยรุนแรงหรืออยู่ในระดับใด ก็สามารถโทรศัพท์ไปขอคำปรึกษาที่โรงพยาบาลได้ และถ้าผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจก็ยังสามารถเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลได้เช่นกัน เพราะโรงพยาบาลทุกแห่งยังคงรับผู้ป่วยตามความเหมาะสมอยู่ โดยวางระบบควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ  
 
“หรือในกรณีที่โรงพยาบาลรับผู้ป่วยไม่ได้ ก็ยังมีระบบส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพ ซึ่งระบบบริการในประเทศไทยมีการเชื่อมต่อกันหมด ที่สำคัญคือเรายังมีสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สายด่วน สปสช.) เลขหมาย 1330 ที่ไม่ใช่แค่ให้คำปรึกษาเฉพาะเรื่องโควิด-19 เพียงอย่างเดียว” พญ.ปิยวรรณ ระบุ 
 
--- บุคลากรไม่เคยมีเจตนาทำให้ใครได้รับอันตราย ---  
 
 รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็จะสนับสนุนให้บุคลากรมีความรู้ มีวิธีในการป้องกัน ตลอดจนการจัดหาอุปกรณ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการให้บริการภายใต้สถานการณ์โควิด-19  
 
นอกจากนี้ สธ.ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสภาพแวดล้อมให้เกิดความปลอดภัย เพราะบุคลากรก็จะต้องถอดชุดป้องกันและดำเนินชีวิตปกติในที่ทำงานของตนเอง ซึ่งโรงพยาบาลในขณะนี้ก็มีมาตรการต่างๆ เช่น การเว้นระยะห่าง การลดจำนวนคนในการเข้าประชุม ไม่รับประทานร่วมกัน ฯลฯ 
 
พญ.ปิยวรณ กล่าวอีกว่า บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะต้องเผชิญกับความเสี่ยงทุกวัน ดังนั้นจำเป็นต้องป้องกันตัวเองอย่างดี และเรื่องวัคซีนที่กำลังเข้ามานั้นถือเป็นภูมิคุ้มกันที่จะเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องให้บุคลากรด่านหน้าเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการทำงาน 
 
นอกจากความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้ว ทุกวันนี้บุคลากรทางการแพทย์ยังทำงานหนักมาก มีภาระงานเพิ่มขึ้น มีความเหนื่อยล้า เมื่อคนไม่ได้นอนหลายคืนติดกันก็มีโอกาสเกิดความผิดพลาดหรือความคาดเคลื่อนได้ ตรงนี้จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจและเห็นอกเห็นใจบุคลากรทางการแพทย์ด้วย 
 
“อยากให้เข้าใจว่าบุคลากรทางสาธารณสุขไม่เคยมีเจตนา หรือตั้งใจที่จะทำให้ผู้ป่วยที่ตัวเองดูแลได้รับอันตราย” พญ.ปิยวรรณ ระบุ 
 
เธอ บอกว่า สิ่งที่ทุกคนจะช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้คือการแบ่งเบาภาระงาน นั่นหมายถึงการดูลตัวเองให้ดี ทำให้ตัวเองปลอดภัย ก็จะลดการเข้ารักษาพยาบาลลง ซึ่งหมายถึงการช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานน้อยลง