ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มธ. ผนึก รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิด โรงพยาบาลสนาม ขนาด 470 เตียง ดีเดย์รับผู้ป่วย 11 เม.ย.นี้


ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในงานแถลงข่าว “การเปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ 470 เตียง” ซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า อว. มีสรรพกำลังด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่พร้อมสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฟันฝ่าโควิด-19 ระลอกใหม่ได้อย่างเต็มที่ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

ทั้งนี้ ความจำเป็นเฉพาะหน้าคือการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วย ภายหลังพบว่าสมรรถนะของโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันถึงขีดสุด ไม่สามารถเดินต่อไปได้แล้ว จึงได้หารือกับ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งพบว่า มธ.ก็เตรียมพร้อมเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงมีกำหนดจะเปิด “โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ขนาด 470 เตียง” ในวันอาทิตย์ที่ 11 เม.ย. 2564 นี้

นอกจากโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์แล้ว อว. ยังมีโรงพยาบาลสนามของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ อีก 400 เตียง นั่นหมายความว่าภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ อว. จะมีโรงพยาบาลสนามทั้งสิ้น 870 เตียง

ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า ขณะเดียวกัน อว. มีโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศอีก 22 แห่ง ซึ่งมีความพร้อมทั้งปริมาณและคุณภาพในแง่ของสถานที่และบุคลากร รวมไปถึงมีมหาวิทยาลัยอีกทุกจังหวัด ที่พร้อมจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามได้โดยทันที ยืนยันว่า อว. มีความพร้อมเป็นกำลังหนุนเสริม สธ. และรัฐบาล จึงอยากให้ประชาชนมีความมั่นใจ อย่าตระหนก อย่าแตกตื่น แต่ให้ตระหนักและเข้มงวดต่อตัวเองและครอบครัว เพื่อไม่ให้ตัวเองไปอยู่ในความเสี่ยง

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า ทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มธ.ถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือ ดูแล เยียวยา เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลง ฉะนั้นแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการทำพิธีปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ไปแล้วหลังผ่านพ้นการระบาดในระลอกที่ 1 และ 2 แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมา มธ.และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจึงพร้อมที่จะเปิดโรงพยาบาลสนามอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้ขยายจาก 308 เตียง เป็น 470 เตียง และมีความเป็นไปได้ที่จะขยายถึง 500 เตียง

“ถ้าประชาชนมีความต้องการ ธรรมศาสตร์ยินดีตอบสนอง ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลสนามแล้ว เรายังให้ความสำคัญต่อการใช้องค์ความรู้ งานวิจัย รวมถึงทรัพยากรต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่างๆ สำหรับดูแลประชาชนในสถานการณ์วิกฤตด้วย” รศ.เกศินี กล่าว