ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลเอกชน กำลังจะกลับมาให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 อีกครั้ง ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คลี่คลายความขับข้องใจให้อย่างถูกจุด

สาเหตุหลักที่โรงพยาบาลเอกชนส่วนหนึ่ง “งด” ให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 โดยพร้อมเพรียงกันนั้น แท้ที่จริงแล้ว เกิดจากความไม่สบายใจที่จะรับเคสผู้ป่วย ในกรณีที่ผลตรวจคัดกรองออกมาเป็นบวก (ติดเชื้อ)

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อกำหนดทางกฎหมาย ทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถ “ปฏิเสธการรักษา” ผู้ป่วยได้ เนื่องจากที่ผ่านมา สธ. ได้ออกประกาศกระทรวงฯ เป็นแนวปฏิบัติเอาไว้แล้ว

หากโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธการรักษา ปล่อยให้ผู้ป่วยไปหาเตียงนอนเอง จะเข้าข่ายมีความผิด

นั่นทำให้ โรงพยาบาลเอกชน เลือกที่จะไม่ตรวจคัดกรองตั้งแต่แรกเลยจะดีกว่า เพราะเมื่อไม่ตรวจก็เท่ากับมีผู้ใดติดเชื้อ

แหล่งข่าว กล่าวว่า สาเหตุที่โรงพยาบาลเอกชน “งด” รับตรวจคัดกรองโควิด-19 เนื่องจากไม่อยากรับเคสโควิด-19 เข้าโรงพยาบาล เพราะต้องใช้ทรัพยากร ทั้งบุคลากรและเตียงจำนวนมากในการดูแลผู้ติดเชื้อ

นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนยังได้เรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายชดเชยค่าตรวจคัดกรองในอัตราที่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบันด้วย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สธ. ได้เจรจากับโรงพยาบาลเอกชนแล้ว โดยให้หลักการปฏิบัติว่า ในกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนตรวจคัดกรองแล้วพบ “ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ” โรงพยาบาลสามารถส่งต่อไปยัง Hospitel (โรงแรมเฝ้าระวังอาการ) ได้

นั่นทำให้โรงพยาบาลเอกชนยินดีกลับมาตรวจคัดกรองโควิด-19 อีกครั้ง

ทางด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า ขณะนี้น้ำยาตรวจโควิด-19 ไม่ขาดแคลน แต่สาเหตุที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งงดให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 เนื่องจากมีเงื่อนไขว่า หากตรวจแล้วผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) โรงพยาบาลต้องรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ซึ่งจะทำให้เตียงเต็ม

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้มีศูนย์จัดการเตียงอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเท่าที่มีข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 5,000 เตียง ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 1,500 เตียง ฉะนั้นแทนที่จะโวยวายว่าเตียงเต็ม หากโรงพยาบาลประสานไปยังศูนย์จัดการเตียง เขาก็จะจัดการให้ เพียงแต่โรงพยาบาลต้องเป็นธุระในการนำส่งผู้ป่วยมา

“เป็นเงื่อนไขตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าหากโรงพยาบาลเอกชนตรวจคนไข้แล้วผลเป็นบวก ต้องรับไว้ในโรงพยาบาลด้วย ไม่ใช่ปล่อยคนติดเชื้อไปหาโรงพยาบาลนอนเอาเอง นี่เป็นหลักการแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนเองก็โอเค” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ภาพรวมน้ำยาตรวจโควิด-19 ในประเทศมีประมาณ 3-4 แสนชุด ปัจจุบันมีสถานที่ตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้การรับรอง 270 แห่ง แต่ละแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนก็จะจัดหาน้ำยาตรวจมาเอง ส่วนกรมวิทย์ฯ จะมีสต็อกกลางจำนวนหนึ่งเพื่อสนับสนุนกรณีฉุกเฉิน ยืนยันว่าน้ำยาไม่ได้ขาดแคลนแต่อย่างใด