ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความมั่นใจต่อระบบบริการในสถานการณ์โควิด-19 ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก หลังจาก “โรงพยาบาลเอกชน” จำนวนมากพร้อมใจกันประกาศ “งด” ให้บริการตรวจคัดกรองโรค ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์เริ่มทยอยติดเชื้อเพิ่ม

“โรงพยาบาลเอกชน” อธิบายสาเหตุที่ไม่สามารถให้บริการตรวจคัดกรองโรคได้อีกต่อไป เนื่องจาก “น้ำยาหมด-เตียงเต็ม”

มีการตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่โรงพยาบาลเตียงเต็มอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะโรงพยาบาลต้องรับผู้ติดเชื้อทุกอาการ-ทุกระดับ ไม่ว่าจะป่วยน้อยหรือป่วยมาก

นั่นเพราะที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการออก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติของ “โรงพยาบาลเอกชน” ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา

ประกาศฉบับแรกคือ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19”

สาระสำคัญคือ โรงพยาบาลต้องช่วยเหลือผู้ป่วยให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ ห้ามปฏิเสธการรักษา หรือปล่อยปละละเลยผู้ติดเชื้อ หากจำเป็นต้องส่งต่อ-โรงพยาบาลต้องเป็นผู้ดำเนินการ

ฉบับที่สองคือ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณี โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 การระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาและการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น”

สาระสำคัญคือ สถานพยาบาลต้องจัดให้มีหน่วยคัดกรอง หากพบอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังต้องดำเนินการเพื่อควบคุม ระงับ หรือบรรเทาอันตราย กรณีเป็นโรงพยาบาลต้องจัดให้มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากผู้ป่วยและส่งไปยังห้องปฏิบัติการตามที่ สธ. กำหนด

นั่นหมายความว่า เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อ จำเป็นต้องรับเข้าสู่กระบวนการรักษา

หากโรงพยาบาลปฏิเสธการรักษา ปล่อยให้ผู้ป่วย/ผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง เดินทางไปรักษาต่อ ณ สถานพยาบาลอื่นด้วยตนเอง จะเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541

แน่นอน ในมุมหนึ่งประกาศสองฉบับนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะถือเป็นหลักประกันสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมั่นใจได้ว่าจะเข้าถึงบริการ

ทว่าในอีกมุม ประกาศทั้งสองฉบับนี้กำลังถูกตั้งคำถามว่า “เป็นอุปสรรค” ต่อการควบคุมโรคหรือไม่

เพราะแทนที่โรงพยาบาลจะสำรองเตียงไว้ให้คนไข้อาการหนัก โรงพยาบาลกลับต้องรับรักษาในทุกเคส