ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการประชุมสำคัญระดับโลก 2 การประชุม การประชุมหนึ่งจากฝั่งสุขภาพ ได้แก่ Prince Mahidol Award Conference (PMAC) หรือการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จัดเป็นประจำทุกปีที่กรุงเทพ

สำหรับปีนี้จัดภายใต้หัวข้อ “โควิด-19: พัฒนาสู่สังคมที่เท่าเทียมและดีต่อสุขภาพ” (COVID-19: Advancing Towards Equity and Healthy World) โดยพูดถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจโลกปลี่ยนแปลงไป

PMAC 2021 ยังถอดบทเรียนการเตรียมพร้อมและรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อมองแนวทางการป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดใหม่ในอนาคต และสร้างความเข้มแข็งให้กับสุขภาพโลก

อีกหนึ่งการประชุม จากฝั่งเศรษฐกิจ ได้แก่ World Economic Forum (WEF) หรือสภาเศรษฐกิจโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เมืองดาวอส ประเทศศวิสเซอร์แลนด์

ปีนี้เป็นปีที่ 51 ภายใต้หัวข้อ “การเริ่มต้นใหม่ที่ยิ่งใหญ่” (The Great Reset) การประชุมนี้มองว่าปี 2021 เป็นปีที่โลกมาถึงสี่แยกที่จำเป็นต้องเลือกว่า จะเดินไปเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนเส้นทางเดินใหม่

โควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตของโลกยิ่งใหญ่เกินกว่าประเทศหนึ่งประเทศใด หรือสถาบันหนึ่งสถาบันใดจะจัดการได้ โควิด-19 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี หลายประเทศหันมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยกระตุ้นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล ภาวะโลกร้อนจึงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งสองการประชุมจึงได้พูดถึง 3 สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโลก ให้เป็นโลกที่สวยงามน่าอยู่สำหรับทุกคน

1. เศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าหลายคนจะกล่าวว่าการล๊อคดาวน์เมืองและปิดสนามบินในหลายประเทศในช่วงโควิด-19 จะทำให้มลพิษทางอากาศดีขึ้น ธรรมชาติได้ฟื้นตัว แต่ในอีกด้านหนึ่ง เกิดขยะล้นเมืองจากการส่งอาหารออนไลน์

นอกจากนั้นยังมีขยะติดเชื้อ เช่น ขยะกลุ่มหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ถุงมือทางการแพทย์ ซึ่งเดิมพบที่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ปัจจุบันพบได้ทุกที่ ทำให้ยากในการกำจัดขยะที่ถูกวิธี 

นอกจากนั้น เศรษฐกิจของแต่ละประเทศตกต่ำลงมาก ทำให้ภาคเอกชนสงวนท่าทีหรือชะลอการลงทุนในธุรกิจสีเขียวที่ใช้พลังงานทดแทน แทนพลังงานจากฟอสซิล ถึงกระนั้นก็ตามยังมีรัฐบาลท้องถิ่น 9 เมืองทั่วโลก และบริษัท 70 แห่งประกาศโครงการริเริ่มชื่อ ‘เมืองปลอดคาร์บอน’ (Net Zero Carbon Cities)  ซึ่งโครงการพยายามปรับโครงสร้างและระบบนิเวศของเมืองเสียใหม่ เพื่อให้ผู้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย มีเทคโนโลยีอัจฉริยะทำให้การบำบัดน้ำดีขึ้น ขยะเกือบทั้งหมดรีไซเคิลได้ อาคารบ้านเรือนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

2. เทคโนโลยีเพื่อความเท่าเทียม

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีความพยายามในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ เช่น การนำ AI มาใช้ตรวจจับโรคอุบัติใหม่ การพยากรณ์การระบาดของโรค การให้บริการทางการแพทย์ออนไลน์ หรือแม้แต่การศึกษาออนไลน์

มุมมองจากการประชุม PMAC เห็นว่าการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพจะกลายเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต ซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ประสิทธิผล ต้นทุน ความคุ้มค่า ความเท่าเทียมในการเข้าถึง ผลกระทบต่อองค์กร สังคม และจริยธรรมในการผลิตและนำเทคโนโลยีมาใช้

ขณะทางฝั่งด้านเศรษฐกิจ การประชุม WEF มองเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญและจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต เพราะผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี ประมาณ 3,600 ล้านคนทั่วโลกในขณะนี้ จะยิ่งห่างไกลจากการบริการทางแพทย์ การศึกษา และเศรษฐกิจ

เครือข่ายเอดิสัน (EDISON Alliance) จึงถือกำเนิดขึ้นและเปิดตัวในการประชุม WEF  ซึ่งมีภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และนักลงทุน รวมตัวเป็นเครือข่ายของเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางด้านดิจิตอล (Digital inclusion) โดยช่วงแรกมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา และเศรษฐกิจ

3. เยาวชน คนรุ่นใหม่ ฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนโลก

ทั้งสองการประชุมให้ความสำคัญกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และเห็นว่าระบบการศึกษาจำเป็นต้องเปิดกว้างให้เยาวชนได้รู้จักโลกกว้าง และใช้วิทยาศาสตร์เป็นฐานในการพัฒนาและการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจต้องทำงานร่วมกันในการพัฒนาเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน และเยาวชนที่อยู่วัยทำงาน ในการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน (Reskill) และยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Upskill) เพื่อสอดคล้องกับความต้องการในอนาคต

ขณะเดียวกัน เยาวชนควรมีแพลตฟอร์มสำหรับพวกเขาเอง ที่พวกเขาสามารถส่งเสียงและเสนอแนวคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก ปัจจุบันมีเครือข่ายเยาชนมากมายที่ช่วยขับเคลื่อนโลก เช่น Accion Andina กลุ่มคนรุ่นใหม่ในทวีปอมริกาใต้ที่ทำธุรกิจเพื่ออนุรักษ์แผ่นดินเกิดและวัฒนธรรมของพวกเขา หรือ Global Shapers Community เครือข่ายเยาวชนที่กลายเป็นแพลฟอร์มใหญ่ให้เยาวชนมาพูดคุยและลงมือเปลี่ยนแปลงโลกไปด้วยกัน

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารสานพลัง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ฉบับเดือนมีนาคม 2564
https://www.nationalhealth.or.th/.../e_book/no103/index.html