ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการอิสระ แนะปรับโครงสร้างสำนักงานประกันสังคมไม่ให้อยู่ภายใต้การเมือง ให้บอร์ดที่โปร่งใสบริหาร เชื่อจะทำให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ได้ง่ายขึ้น


นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการอิสระด้านสิทธิแรงงาน กล่าวในเวทีเสวนา “30 ปี ประกันสังคมกับความเหลื่อมล้ำและกลุ่มอาชีพที่หล่นหาย” เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เนื่องจากปัจจุบัน สปส. อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน เป็นเหตุให้การทำนโยบายหรือกำหนดสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องให้ รมว.แรงงาน เป็นผู้อนุมัติก่อน

“แม้แต่การตั้งเลขาธิการ สปส. ก็ต้องให้ รมว.แรงงาน เห็นชอบ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้การขับเคลื่อนสิทธิประโยชน์หรือนโยบายอะไรต้องอยู่ภายใต้ฝ่ายการเมือง ส่วนตัวจึงเห็นว่าควรปรับโครงสร้างให้เป็นอิสระจากกระทรวงแรงงาน และบริหารงานโดยบอร์ด (คณะกรรมการ) ที่มาจากการสรรหาอย่างเป็นระบบ โปร่งใส ตรวจสอบได้” นายบัณฑิตย์ กล่าว

น.ส.เอ (นามสมมุติ) ตัวแทนผู้ประกอบขับขี่ส่งของตามแพลตฟอร์มออนไลน์ (ไรด์เดอร์) กล่าวว่า การทำงานในอาชีพนี้ นอกจากถูกลวนลามแล้วยังเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่มีสวัสดิการใดๆ ดูแล เพราะไม่มีประกันสังคม สิ่งที่อยากเรียกร้องอย่างน้อยคือขอให้มีประกันสังคม เพราะจะช่วยเราได้เยอะในหลายๆ อย่าง เพราะตอนนี้เราถูกกดขี่เกินไป อย่างที่หักเงินรายได้เราไป15% นั้น ยังไม่สามารถเอามายื่นภาษี 3% ต่อปีคืนได้เลย

นายวรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพไรด์เดอร์จำนวนมาก จากปี 2562 ที่มีอยู่ราว 6-7 หมื่นคน เพิ่มเป็นกว่า 2 แสนคนในปี 2563 บางคนต้องทำงานหนักถึง 14-15 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นงานที่ทำมากได้มาก-ทำน้อยได้น้อย ซึ่งถือเป็นเพิ่มความเสี่ยงบนท้องถนนด้วย

นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้แม้จะมีจำนวนมาก หากแต่ไม่มีสวัสดิการคุ้มครอง ทั้งทางกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายประกันสังคม จึงไม่สามารถลาหยุด ลาป่วย หยุดประจำปี หรือได้รับเงินชดเชยจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นสวัสดิการพื้นฐานที่คนทำงานควรได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

“ในประเทศไทย ระบบงานพัฒนามากขึ้นแต่การพัฒนาระบบสวัสดิการคุ้มครองคนทำงานกลับตามไม่ทัน ซึ่งแตกต่างกับในต่างประเทศที่คนเหล่านี้ถือเป็นลูกจ้างบริษัทที่ได้รับการคุ้มครอง” นายวรดุลย์ กล่าว