ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นพ.ศักดิ์ชัย” ถอดบทเรียนจากตำแหน่ง เลขาธิการ สปสช. ระบุ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สำคัญที่สุด การรักษาพยาบาลต้องเป็นสิทธิไม่ใช่สงเคราะห์


นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในงานเสวนา “ลัดเลาะเรื่องร้อยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2 : ทศวรรษที่ผลิบานในโมงยามแห่งความคาดหวัง” ภายในงานเปิดตัวหนังสือ “ระหว่างบรรทัด” เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า มิติทางสาธารณสุขเป็นสิ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่ขยายตัวจนรวดเร็วเกินไป ฉะนั้น สปสช. และกองทุนสุขภาพ จึงเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลดช่องว่างทางสังคม

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญหลังจากนี้คือการสร้างความสมดุลในเรื่องงานวิชาการกับความคาดหวังของผู้รับบริการ ให้เดินทางควบคู่กันไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า หากย้อนกลับไปในปี 2545 จะพบว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เปรียบได้กับชีวิตวิถีใหม่ (New normal) ในระบบสุขภาพ ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ชัดเจนที่สุดในยุคสมัยนั้น

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สิ่งที่เรียนรู้จากการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ การรักษาพยาบาลจึงเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชน ไม่ใช่ระบบสงเคราะห์ ซึ่งทุกวันนี้แม้ว่าระบบบัตรทองอาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ 100% แต่ก็ได้ช่วยลดคราบไคลของความอนาถาและสงเคราะห์ลงไปได้

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้กฎหมายประเทศไทยได้ให้สิทธิต่างๆ แก่ประชาชนจำนวนมาก แต่สำหรับสิทธิรักษาพาบาลถือเป็นสิทธิที่สัมผัสได้จริง ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมานี้ พบว่าภายใน 1 ปี จะมีผู้ป่วย 16 ล้านราย มีการใช้บริการผู้ป่วยนอก 160 ล้านครั้ง ตรงนี้สะท้อนว่ามีผู้ได้รับประโยชน์จริง

“ผมคิดว่าประเด็นสำคัญคือความเป็นเจ้าของ ซึ่งระบบบัตรทองได้ถูกออกแบบมาจากการมีส่วนร่วม ฉะนั้นทุกคนจึงมีความเป็นเจ้าของระบบ บัตรทองจึงกลายเป็นสมบัติของชาติที่ควรหวงแหน” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว