ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่ประเทศไทยมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จนถึงทุกวันนี้ สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ประการหนึ่ง นั่นคือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีความเข้มแข็งและยั่งยืนมากพอที่จะข้ามผ่านกาลเวลามาได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าระบบบัตรทองข้ามผ่านกาลเวลามาถึง 18 ปี จนกลายเป็นสมบัติของชาติและได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ หากแต่การดำรงตนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมและเชี่ยวกราก ย่อมไม่อนุญาตให้ “ระบบบัตรทอง” ย่ำอยู่กับที่ หรือติดกับดักความสำเร็จในอดีตได้อีกต่อไป

ปี 2564 จึงเป็นอีกครั้งของการเปลี่ยนผ่านสำคัญสำหรับกองทุนสุขภาพมูลค่าเฉียด 2 แสนล้านบาท เพราะนับตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป สปสช.จะเข้าสู่ยุคใหม่ ภายใต้การกำกับควบคุมทิศทางโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ป้ายแดง หนึ่งในสมาชิก “คณะผู้บุกเบิก” ระบบบัตรทอง

นพ.จเด็จ กล่าวอย่างหนักแน่นกับเจ้าหน้าที่ สปสช.ว่า ตั้งใจจะเข้ามาปรับปรุง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงองค์กร ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่นั้น จะขอดูที่ 100 วันแรก ของการทำงาน

Change องค์กรใน 100 วันแรก

“ผมคิดว่า 100 วันแรกของการทำงานเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ซึ่งจะชี้วัดว่าจะสามารถนำองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ดังเช่นที่ประธานาธิบดีสหรัฐทุกท่านก็มีการกำหนดดังกล่าว”

ในฐานะที่ นพ.จเด็จ คือหนึ่งในทีมรุ่นบุกเบิกระบบบัตรทอง และอยู่ในทุกๆ หน้าประวัติศาสตร์สำคัญ เขาจึงเป็นคนหนึ่งที่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กร มองเห็นโอกาสและอุปสรรคที่ขวางกั้นการพัฒนาระบบ

“สิ่งแรกที่ผมคิดว่าจะทำคือ สร้างความเชื่อมั่นให้เจ้าหน้าที่ทุกคนรู้สึกถึงความร่วมใจในการทำงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน”

นพ.จเด็จ บอกว่า ข้อดีของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือมีเป้าหมายที่ชัดเจนมาตั้งแต่แรกเริ่ม และปรัชญาการทำงานนั้นก็สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ประกอบด้วย 1. การเพิ่มการเข้าถึงบริการที่จำเป็นให้กับประชาชน 2. ป้องกันไม่ให้ประชาชนล้มละลายจากการเจ็บป่วย

“ในเรื่องของเป้าหมาย ผมคิดว่าผู้บริหารชุดก่อนๆ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนกันอย่างชัดเจน แต่วิธีการทำงานบางอย่างอาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์ สิ่งสำคัญอันหนึ่งที่เราควรทำคือ เรียนรู้จากความผิดพลาดเพื่อปิดจุดอ่อนก่อนที่จะทำงานเชิงรุกในระยะต่อไป”

จุดอ่อนของ สปสช. ตามมุมมองของ ว่าที่เลขาธิการ สปสช.รายนี้ คือ 1. เราต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าเรามีธรรมาภิบาลที่ดีในการดูแลเงินของประชาชน ระบบการจัดสรรงบประมาณต้องรวดเร็ว ถูกต้อง ตรวจสอบได้ ป้องกันการทุจริตได้ดี  2. เราต้องให้ความสำคัญกับการทำงานระหว่างเพื่อนๆ หน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานแบบร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ใช่ใช้ลักษณะการทำงานแบบสั่งการ

นั่นทำให้จำเป็นต้องปรับท่าทีและการให้น้ำหนักความสำคัญการทำงานหลังจากนี้ใหม่ โดยเฉพาะกลไกการป้องกันความผิดพลาดทางการเงิน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดระดับของการป้องกันที่ไม่สามารถประนีประนอมได้ หรือที่เรียกว่า “เส้นแดงที่ข้ามจากนี้ไปไม่ได้” (Red line)  เช่น หากมีการเบิกจ่ายเงินที่ไม่มีการให้บริการจริงต้องมีการดำเนินการทางกฎหมายทันที

“นอกจากเรื่องการเงินแล้ว ระบบตรวจสอบ การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารงานบุคคล ก็เป็นประเด็นที่ผมตั้งใจจะยกระดับธรรมาภิบาลในองค์กร ซึ่งฟังดูเหมือนคำที่ใครๆ ก็พูดกัน แต่คิดว่าต้องมีการกำหนดกติกาให้ชัดเจน จะทำให้การยกระดับธรรมาภิบาลเกิดประสิทธิผลมากที่สุด”

ในส่วนของ “ความสัมพันธ์ในการทำงานกับเพื่อน” นพ.จเด็จ ยอมรับตรงไปตรงมาว่า ในอดีต สปสช. ถูกมองว่ามีปัญหากับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่ปัจจุบันเราทั้งคู่ได้ผ่านช่วงของการเรียนรู้บนความขัดแย้งไปแล้ว ขณะนี้จึงอยู่ในช่วงที่จะโตไปด้วยกัน-เดินหน้าไปด้วยกัน

“ในยุคของพี่ศักดิ์ชัย (นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา) แรกเริ่มที่ท่านเข้ามา ท่านบอกเลยว่าจะทำหน้าที่สร้างความไว้วางใจกับเพื่อนที่ต้องทำงานร่วมกันและเดินไปด้วย ซึ่งท่านก็ทำสำเร็จและจนส่งต่อบรรยากาศดีๆ มาจนถึงวันนี้

“ปัจจุบัน สปสช.ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้ดีขึ้นมากโดยเฉพาะกับ สธ. ที่ทำงานร่วมกันได้อย่างดีมาก สธ.ช่วยสนับสนุนและดำเนินนโยบายต่างๆ โดย สปสช.ทำหน้าที่เสนอกลไกทางการเงิน ที่สุดแล้วจึงเกิดเป็นรูปธรรมในการให้บริการ เกิดเป็นนโยบายใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าประโยชน์สูงสุดย่อมตกอยู่กับประชาชน

“ฉะนั้นแทนที่เราจะทำงานแบบตั้งรับต่อไป แต่เมื่อหน้าต่างของโอกาสเปิดแล้ว ใน 3-4 ปีข้างหน้า  สปสช. น่าจะทำงานเชิงรุกร่วมกับเพื่อนของเราได้มากขึ้น เชื่อว่า สปสช. จะเป็นกลไกสนับสนุนในการขับเคลื่อนระบบบริการและนโยบายสำคัญต่างๆ ไปสู่ประโยชน์ของประชาชนได้” นพ.จเด็จ ระบุ

เข้าใจชาวบ้านจาก พฤติกรรม ไม่ใช่ เหตุผล

สำหรับการทำงานของ สปสช. ต่อการบริหารจัดการกองทุนและการดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้สิทธิบัตรทองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ประเมินว่า เป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่จะดีขึ้นอีกหาก สปสช.หันกลับไปดูปัญหาที่ชาวบ้านยังมีอยู่กับการเข้าถึงบริการที่จำเป็น และภาระการเงินที่การรักษาพยาบาลมากขึ้น

“ทุกวันนี้ยังมีปัญหาที่ชาวบ้านอยากให้มีช่องทางสื่อสารเพื่อให้เราแก้ปัญหา หากเราไม่สร้างกลไกเชิงรุกที่จะรับรู้ปัญหาของชาวบ้านมากขึ้น เราจะเสียโอกาสในการสร้างหลักประกันสุขภาพที่ดีในอนาคตได้ ที่ผ่านมาเราคุยเรื่องกลไกการเงิน ระบบที่ออกแบบค่อนข้างแข็งตัว ซึ่งก็ดี มีตัวเลข มีเหตุมีผล

แต่พฤติกรรมชาวบ้านบางครั้งไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลได้ทั้งหมด ผมจึงขออนุญาตกลับมาเทน้ำหนักในเรื่องพื้นฐานนี้ โดยจะปรับเปลี่ยนทฤษฎีการทำงาน จากการใช้แต่เหตุผลไปสู่ ความเข้าใจในเชิงพฤติกรรม

การปรับจาก “เหตุผล” ไปสู่ “พฤติกรรม” ในความหมายของ “นพ.จเด็จ” คือการออกแบบการทำงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่แท้จริงของประชาชน โดยอ้างอิงจากหลักวิชาการและข้อมูลที่จะช่วยนำการตัดสินใจ

“อธิบายให้เห็นภาพคือ อย่างเราอนุญาตให้ชาวบ้านไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ใดก็ได้ ในเชิงเหตุผลเราอาจจะไม่อยากอนุญาตให้ชาวบ้านทำแบบนี้ โดยเชื่อว่าชาวบ้านคงจะไปรับบริการยังหน่วยบริการบางแห่งจนไม่สามารถรองรับไหว แต่ก็เคยมีงานวิจัยพบว่าหากเราให้ชาวบ้านไปรับบริการปฐมภูมิที่ใดก็ได้ ส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 80 ก็ไม่ได้ไปที่ไหนมากกว่าหน่วยบริการใกล้บ้านเพราะการไปรักษาไกลบ้านก็มีค่าใช้จ่ายทางอ้อมมากมาย 

“หรืออย่างนโยบายโรคมะเร็งไปรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อมของท่านอนุทิน ชาญวีรกูล เรามีข้อมูลในอดีตว่าผู้ป่วยมะเร็งปีละกว่า 3 แสนคน มีเพียงแค่ 1.5 หมื่นคน ที่มีการไปรับบริการนอกเขตพื้นที่ตัวเองซึ่งส่วนใหญ่เพราะต้องรอคิวนาน ส่วนอีก 3 แสนคน เขาก็ยังรักษาอยู่ที่เขตของตนเอง ซึ่งหากเราเชื่อข้อมูลนี้ การที่เราให้ผู้ป่วยมะเร็งไปรักษาได้ทุกที่ที่พร้อม หากในพื้นที่มีความพร้อมของระบบการรักษาก็เชื่อว่าจะไม่มีใครต้องการจะไปรักษาไกลบ้าน

“หรือนโยบายเปลี่ยนสิทธิทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน ถามว่าเมื่อมีผลบังคับใช้แล้วเกิดความโกลาหลหรือไม่ ในความเป็นจริงก็ไม่ได้โกลาหล แต่ในทางกลับกันบางครั้งถ้ายิ่งบังคับ มันก็ยิ่งโกลาหล นี่เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่บางครั้งดูเหมือนไม่มีเหตุผล แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมล้วนๆ” นพ.จเด็จ อธิบาย

เพิ่มประสิทธิภาพด้วยงบประมาณก้อนเดิม

มีข้อกังวลเรื่องงบประมาณในระบบบัตรทองที่เพิ่มขึ้นทุกปี วิสัยทัศน์ของว่าที่เลขาธิการ สปสช.ป้ายแดงรายนี้ มองว่าการเพิ่มของงบประมาณมากหรือน้อยอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญประเด็นเดียว แต่การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบที่เหมาะสม ก็สามารถยกระดับคุณภาพบริการได้ภายใต้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นไม่มาก

“มีการศึกษาของ นพ.จิรุตม์ (ศรีรัตนบัลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) พบว่า เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพจากระบบได้อีกอย่างน้อยร้อยละ 10 หากเราเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการ เช่น เพิ่มการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ลดการนอนโรงพยาบาลที่ไม่จำเป็น เพิ่มการต่อรองราคาเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ โดยเงินไม่ต้องใช้เงินเพิ่ม”

นพ.จเด็จ ยกตัวอย่าง เช่นกรณีที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อนุมัติสิทธิประโยชน์ประสาทหูเทียมในเด็กโดยมีมติให้ สปสช. ต่อรองราคาให้ได้ต่ำกว่าชุดละ 8 แสนบาท ซึ่งจากการทำงานกับราชวิทยาลัย โสต สอ นาสิก และความร่วมมือของตัวแทนจำหน่าย ทำให้เราต่อรองราคาเหลือเพียง 3 แสนบาท

นั่นหมายถึง เราก็สามารถขยับเป้าหมายผู้ป่วยเพิ่มจากที่วางไว้เป็น 3 เท่าได้ทันที ประโยชน์ที่ได้คือเด็กที่จะได้รับการผ่าตัดมากขึ้น ราชวิทยาลัยก็ยินดีที่ได้ช่วยเหลือเด็กมากขึ้น แม้แต่บริษัทที่ขายเขาก็ดีใจ เพราะเขาก็จะได้รู้ยอดขายชัดๆ ไปรายงานกับผู้บริหารเขาได้

“ประเด็นสำคัญคือ หากเรามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ สิ่งที่เราควรทำคือการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบให้มากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่บนเงื่อนไขว่าต้องไม่มีใครเดือดร้อน เช่น โรงพยาบาลจะต้องได้เงินเท่าที่ควรจะเป็นที่เหมาะสม เพื่อให้การรักษาคนไข้ได้อย่างเต็มที่ แต่เราใช้กลไกที่เราสามารถประหยัดได้มาช่วยทำให้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดสามารถไปใช้ในส่วนที่สำคัญและจำเป็นต่อได้”

รุกหน้างาน ‘P&P - กองทุนตำบล เต็มรูปแบบ

นอกจากเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพงานแล้ว ในยุคของ “นพ.จเด็จ” ยังมีความตั้งใจที่จะให้น้ำหนักความสำคัญกับหน้างาน สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หรือที่ศัพท์ในวงการแพทย์เรียกว่า P&P ซึ่งจะเป็นงานที่ช่วยลดภาระงบประมาณภาครัฐได้อย่างมหาศาล

นั่นเพราะทุกวันนี้ งบประมาณของประเทศจำนวนมากหมดไปกับ “ค่ารักษาพยาบาล” สำหรับผู้ป่วย ฉะนั้นหากรัฐ “ลงทุน” ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อป้องกันไม่ให้คนป่วย ก็จะช่วยประหยัดเงินค่ารักษาได้อย่างมีนัยสำคัญ

“งานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นงานที่ครอบคลุมคนไทยทุกคน-ทุกสิทธิการรักษา ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ โดย สปสช.ทำหน้าที่เพียงบริหารจัดการทั้งเชิงงบประมาณและสิทธิประโยชน์ให้เท่านั้น ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของคนทั้งชาติที่เราต้องให้ความสำคัญ” นพ.จเด็จ กล่าว

สำหรับงาน P&P นอกจากครอบคลุมทุกสิทธิแล้ว ยังครอบคลุมทุกช่วงวัยด้วย โดยมีทั้งการฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรองโรค ฯลฯ โดยโจทย์สำคัญของเราคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้ว่าตัวเองมีสิทธิเข้ารับ P&P และสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากกองทุนสุขภาพเพื่อดูแลสุขภาพตนเองได้ ตรงนี้ สปสช. จำเป็นต้องทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ขยายร่วมมือกับหน่วยงานมากขึ้น

สอดคล้องกับอีกหนึ่งหน้างานที่ “นพ.จเด็จ” หมายมั่นปั้นมือปักหมุดเดินหน้าเต็มกำลัง นั่นคือการผลักดัน กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กองทุนสุขภาพตำบล” ให้เป็นกลไกที่ช่วยดูแลสุขภาพประชาชนตามบริบทของท้องถิ่น

นพ.จเด็จ บอกว่า ต้องยอมรับว่าในเรื่องการดูแลสุขภาพ เราไม่สามารถเข้าไปดูแลหรือจัดการโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้ แต่ต้องอาศัยภาคส่วนต่างๆ ร่วมด้วยช่วยกัน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านและชุมชน มีความยืดหยุ่น ที่สำคัญคือมีความเข้าใจปัญหาสุขภาพตามบริบทของตัวเอง

“จุดแข็งของ กปท. คือมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวสูง เงินในกองทุนสามารถถูกนำไปใช้เพื่อตอบโต้สถานการณ์สุขภาพวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่นในโควิด-19 ก็มีหลายพื้นที่ทั่วประเทศนำเงินนี้ไปใช้ดูแลประชาชนควบคู่ไปกับมาตรการของรัฐ นับว่าประสบความสำเร็จมาก”

นอกจากนี้ กปท. ยังถูกนำไปใช้อีกหลายมิติ ทั้งการดูแลสุขภาพและสนับสนุนพัฒนาการในเด็กในศูนย์เด็กเล็ก การส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือแม้แต่การจัดการกับโรคระบาด ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่ดี เป็นกลไกที่เข้มแข็ง และเป็นสิ่งที่เราต้องต่อยอดเพื่อเดินหน้าต่ออย่างเต็มรูปแบบ

ทุกเรื่อง ... ผมแก้ปัญหาให้ท่านได้

ในส่วนของการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม-เครือข่ายผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นภาคีหลักในฐานะ “เจ้าของ” และ “ผู้ปกป้อง” ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “นพ.จเด็จ” บอกว่า เตรียมจัดทำกลไกใหม่ขึ้นมา เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงตัวของเลขาธิการ สปสช. ได้อย่างง่ายที่สุด

“จากนี้ท่านไม่จำเป็นต้องพูดเป็นเรื่องๆ เพราะถ้าผมมีกลไกที่ทำให้ผมรู้ทุกเรื่องแล้ว ผมจะแก้ไขปัญหาให้ท่านก่อนเลย ผมมั่นใจว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่อยู่ในความเชี่ยวชาญของผมคือ สามารถแก้ไขปัญหาให้ท่านได้เกือบทุกเรื่องที่ท่านแจ้งมา”

นอกจากนี้ การทำงานจะต้องให้ความใส่ใจกับ “กลุ่มผู้ด้อยโอกาส” เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการตอบอุดมการณ์การก่อตั้งของ สปสช. ที่ต้องการให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลและไม่ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล

“เราต้องถามตัวเองกันว่า เรากำลังเป็นแบบนี้อยู่รึป่าว คือเมื่อเขาขออะไรมา หรือใครถามอะไรมา เราก็ปฏิเสธไปก่อนว่าทำไม่ได้ เรากำลังตั้งกรอบอยู่รึป่าวว่าเราครอบคลุม 90% แล้ว เราพอใจแล้ว อีก 10% เราจึงไม่สนใจรึป่าว สำหรับผมแล้วนี่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการทำงาน คือเราต้องให้ความใส่ใจกับกลุ่มด้อยโอกาส

“ตัวอย่างที่อยากจะเล่าคือมีอยู่วันหนึ่ง มีคนไข้ชาติพันธุ์มานิ 146 คน เดินทางมานั่งร้องไห้อยู่หน้าห้องทำงานผม เขามาขอว่า มานิต้องไปรักษาที่ไหนก็ได้ ซึ่งขณะนั้นก็ไม่มีใครตัดสินใจให้เลย ปล่อยให้เขานั่งร้องไห้อยู่อย่างนั้น จนผมกลับเข้ามา ผมก็ถามเจ้าหน้าที่ว่าชาติพันธุ์มานินี่เขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน ปกติเขาก็ไม่ค่อยได้ออกนอกพื้นที่อยู่แล้วใช่หรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็คือใช่ ถ้าอย่างนั้นก็อนุญาตไปเลยสิ อนุญาตไปเลย ถึงเขาได้สิทธิรักษาที่ไหนก็ได้เขาก็ไม่ไปไหนหรอก แล้วจะมัวปล่อยให้เขาเป็นทุกข์ มาร้องไห้กันอยู่ทำไม”

อย่าละเลยความเป็นมืออาชีพ

ในฐานะที่ นพ.จเด็จ เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและเห็นการเดินทางตลอด 18 ปี ของ สปสช. เขาย้ำว่า การเป็นคนที่อยู่นานมีทั้งข้อเด่นและข้อด้อย ในที่นี้หมายถึงตัวเองและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใน สปสช. ด้วย

“ผมพยายามไม่ให้การอยู่นานเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนงาน การอยู่นานข้อเด่นคือเรารู้งาน แต่ข้อด้อยคือเราติดกับดักความสำเร็จ เราก็ไม่อยากจะเปลี่ยน เราก็อยากจะ hold ในขณะที่สถานการณ์เปลี่ยนไปหมดแล้ว

“ฉะนั้นสิ่งที่ผมต้องการคือความเป็นมืออาชีพ ผมบอกเจ้าหน้าที่ว่า อย่าถามว่าความเป็นมืออาชีพคืออะไร แต่ให้ถามว่าความไม่เป็นมืออาชีพคืออะไร ถ้าท่านอยู่ใน สปสช. แต่ไม่ศึกษาหาความรู้เลย ใช้แต่ความรู้สึกอย่างเดียว นี่แหละคือความไม่มีอาชีพ ท่านต้องทำตัวให้เป็นมืออาชีพ ทำงานบนฐานความรู้ความสามารถ

“ที่สำคัญคือเราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง เช่น อายุหลัง 60 บางทีอาจจะ slow ลง ด้วยเงื่อนไขของวัยทำให้เราไม่ active เหมือนเดิม วันนี้มีคนอายุ 50 กว่ามาเป็นเลขาธิการ สปสช. ในอนาคตอาจต้องขอที่ 40 กว่าๆ ซึ่งจะ Strong กว่า และเหมาะกว่า แต่สิ่งที่ต้องมีคือวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำ เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ และเทรนด์จะเป็นเช่นนั้น”

นพ.จเด็จ บอกว่า ที่จริงแล้วคงไม่ได้คาดหวังว่าใน 4 ปีนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เพราะไม่ควรหวังขนาดนั้น แต่ด้วยการเรียนรู้จากอดีตน่าจะช่วยให้สามารถขยับเข้าไปสู่ความสำเร็จได้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยความเร็วที่มากขึ้นกว่าเดิม หรือจับต้องได้มากขึ้นกว่าเดิม

“สิ่งที่ผมกังวลและผมกลัว คือถ้าผมเกษียณหรือออกจากตำแหน่งไป แล้วมีคนบอกว่าผมมีปัญหาโน่นนี่ แต่ผมยอมรับว่าผมไม่ใช่คนที่จะอยู่ไปเรื่อยๆ จนเกษียณ ผมอยากทำงาน แต่ผมไม่อยากไปแบบมีอะไรติดพันจนผมไม่สามารถเล่าให้ลูกผมฟังได้ ลูกควรจะภูมิใจในหน้าที่การงานของผม

“ลูกสาวผมอยู่เมืองนอก คุณครูถามว่าพ่อทำงานอะไร ลูกผมตอบไม่ถูก ผมก็บอกลูกไปว่าพ่อเป็นหมอ ลูกกถามว่าไม่เคยเห็นพ่อไปตรวจคนไข้เลย เราก็พยายามอธิบายว่า พ่อทำงานเชิงนโยบายนะ มีชาวบ้านได้ประโยชน์เยอะเลย แต่ลูกกลับบอกว่า หนูอยากให้พ่อเป็นหมอมากกว่า อยากให้พ่อรักษาคนไข้ เพราะรู้สึกว่ามีคุณค่ามากกว่า

“สำหรับลูกสาวผมแล้ว เขาไม่ได้ให้ค่ากับอาชีพของเราตรงนี้เลย ลูกสาวเราไม่เห็นภูมิใจในความเป็นเราเลย ถ้าผมบอกว่าเป็นหมอ วันนี้ไปรักษาคนโน้นคนนี้มา รางวัลที่เราได้คือความภูมิใจของลูกเรา เราเป็น idol แต่ทุกวันนี้ผมไม่ได้เลย

“สิ่งที่ผมอยากได้คือ อยากให้เขาภูมิใจในตัวเรา ฉะนั้นการมาอยู่ตรงนี้ 4 ปี ผมจึงระมัดระวัง ไม่อยากจากไปด้วยการมีแต่ปัญหา เมื่อลูกโตแล้วมารู้ ผมยอมให้เกิดแบบนี้ไม่ได้

นพ.จเด็จ ย้ำในตอนท้ายว่า การปิดจุดอ่อน การกำหนด Red Line และทำงานเชิงรุก ด้วยการหันกลับมาคุยกับชาวบ้าน-ผู้รับบริการ โดยปรับเปลี่ยนวิธีการคิดจากเหตุผลไปสู่พฤติกรรม พร้อมทั้งบริหารงบประมาณควบคู่ไปกับรีดประสิทธิภาพจากระบบให้มากขึ้น จะช่วยให้ทุกฝ่ายที่ร่วมทางไปกับ สปสช. มีความสุข ซึ่งจะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างแน่นอน