ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มนุษยชาติกำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ ขณะที่พัฒนาการทางสมองของเด็กในยุคถัดไปก็จะช้าลง ความอ่อนแรง-ป่วยไข้ จะถูกส่งต่อทางพันธุกรรมที่มีปัญหา โดยสาเหตุสำคัญเกิดจาก “มลพิษทางอากาศ”

ชาว จ.เชียงใหม่ กำลังสำลัก “อากาศพิษ” และดูเหมือนสถานการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นชนิดที่มองไม่เห็นจุดจบ

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งวาระ ที่ “The Coverage” จำเป็นต้องพูดถึงปัญหามลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ซึ่งสร้างความเลวร้ายให้เกือบทุกประเทศทั่วโลก ส่งผลต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ภาวะแทรกซ้อนต่อเด็กในครรภ์ และการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมด้วย

พูดอย่างเต็มปากเต็มคำ Air Pollution ที่คนเชียงใหม่กำลังสู้รบด้วยอยู่นั้น เปรียบได้กับสงครามที่มีขนาดใหญ่ในระดับมนุษยชาติโดยแท้จริง

เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน มีการจัดงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ โดยคณะผู้จัดฯ ได้เชิญ นพ.ดร.ราดิม ชรัม (Radim Sram, M.D.) นักระบาดวิทยาระดับโมเลกุล และนักพันธุศาสตร์ ศูนย์เวชศาสตร์ทดลอง สถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐเช็ค มาบอกเล่าผลการศึกษาจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

นพ.ดร.ราดิม บอกว่า จากการศึกษาทางระบาดวิทยาระดับโมเลกุลพบว่า มลพิษทางอากาศที่มีขนาดมากกว่า 1 นาโนกรัม จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ ทั้งสารพันธุกรรมในร่างกาย การแยกส่วนของสารพันธุกรรมในสเปิร์ม และปฏิกิริยาออกซิเดชันชั้นโมเลกุลของไขมัน

“จากการศึกษาพบว่าส่วนที่สำคัญของ PM 2.5 นั่นก็คือ PM 1 ที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ไมโครมิเตอร์ มีส่วนที่ทำให้เกิดภาวะเครียด ส่งผลให้แก่ไวขึ้น และเพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจ” นพ.ดร.ราคิม ระบุ

นอกจากนี้ สารพอลิไซคลิกแอโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PHAs) หนึ่งในสารก่อมะเร็งที่ได้ลอยร่วมเป็นมลพิษทางอากาศ มีผลทำให้เด็กทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า รวมไปถึงยังส่งผลให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์และเกิดโรคแทรกซ้อน

ส่วนผลกระทบสำหรับวัยผู้ใหญ่ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด อัลไซเมอร์ และขาดอินซูลินซึ่งก่อให้เกิดโรคเบาหวาน

สารก่อมะเร็งดังกล่าวยังสงผลต่ออายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ ส่งผลให้อายุขัยของประชากรลดลง และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

ซ้ำร้ายกว่านั้น ยังส่งผลเสียหายต่อ สารพันธุกรรมที่ส่งต่อลูกหลานที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย

“การเพิ่มขึ้นของ PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อเด็กในเรื่องของการเรียนรู้ที่ช้าลง สมองเสื่อม และมีโอกาสก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าอีกด้วย” นพ.ดร.ราคิม ระบุ

นพ.ดร.ราดิม ได้รายงานข้อมูลต่อที่ประชุมองค์การอนามัยโลก (WHO) ครั้งที่ 17 เมื่อปี 2557 โดยขณะพบว่า ในสหภาพยุโรป ปี 2555 มีผู้เสียชีวิตจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศมากกว่า 6 แสนคน ส่วนใหญ่ได้รับสารก่อมะเร็ง

สำหรับสาธารณรัฐเช็กที่ “ราดิม” อาศัยอยู่นั้น เผชิญกับปัญหาอากาศพิษมาอย่างยาวนาน โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2531 พบว่า ในพื้นที่เหมืองแร่โบฮีเมียเหนือ มีอัตราส่วนการปล่อยสารมลพิษจำพวกซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ฯลฯ มากที่สุด

สารดังกล่าว เป็นต้นทางของโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอด โรคมะเร็ง และโรคเรื้อรังอื่นๆ อีกหลายโรค

ด้วยเหตุนี้ ในปี 2531 ทางสาธารณรัฐเช็กจึงได้มีการรวบรวมข้อมูล ความผิดปกติของเด็ก ในพื้นที่ทำเหมืองแร่โบฮีเมียเหนือ เทียบกับเด็กในพื้นที่อื่นที่ไม่ได้อยู่ในเขตเหมือง

จากการศึกษาข้อมูลจากเด็กจำนวน 100 คน พบว่า เด็กในเขตพื้นที่การทำเหมืองมีความผิดปกติทางด้านระบบทางเดินหายใจ อยู่ที่ร้อยละ 2.9 และเด็กในพื้นที่ปกติจะมีความผิดปกติทางด้านระบบทางเดินหายใจ อยู่ที่ร้อยละ 0.54 เท่านั้น

อย่างไรก็ตามพื้นที่ เหมืองแร่นอกจากโบฮีเมียเหนือแล้ว ยังมีเมืองเตปลิตเชที่เป็นแหล่งปล่อยมลพิษหลักของประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากจากการทำเหมืองถ่านหินสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม และการให้ความร้อนในบ้านเมืองช่วงฤดูหนาว 

เมื่อดูถึงสัดส่วนการเกิดผลพิษของเมืองเตปลิตเช เมื่อปี 2537 พบว่า เครื่องทำความร้อนภายในบ้าน (Ht-S) และหม้อไอน้ำอุตสาหกรรมขนาดเล็กเป็นสาเหตุหลักที่มีการปล่อยมลพิษ

จากข้อมูลดังกล่าว เป็นเหตุให้รัฐบาลของสาธารณรัฐเช็กทุ่มเงินจำนวนกว่า 6 ล้านโครูนาเช็ก ในการเปลี่ยนระบบทำความร้อนทั้งหมด ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะพบว่าการปล่อยมลพิษนั้นลดลง และทำให้คุณภาพอากาศในพื้นที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ