ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สาธารณรัฐไซปรัส” ประเทศที่มีประชากรราว 9 แสนราย ที่ผ่านมาเศรษฐกิจพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากกรีซ

ไซปรัสเคยเผชิญจุดตกต่ำของระบบสุขภาพระหว่างปี 2012-2015 เมื่อรัฐบาลตัดงบประมาณด้านสุขภาพ เพราะหนี้รัฐบาลพุ่งสูง ด้วยวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งเริ่มมีจุดเริ่มต้นจากวิกฤติการเงินในกรีซ จนสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่มาถึง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นเข้าขั้นรุนแรง จำนวนประชากรที่เข้าถึงประกันสุขภาพของรัฐ ลดลงจาก 85% เหลือ 75% หลังรัฐบาลหั่นงบประมาณสุขภาพ 

สัดส่วนของประชากรที่เข้าไม่ถึงรัฐสวัสดิการเพิ่มจาก 15% เป็น 25%

นอกจากนี้ รัฐบาลยังใช้มาตรการเก็บเงินบริการผู้ป่วยนอก รวมทั้งค่ายาและการแพทย์ฉุกเฉิน การลงทุนด้านบุคลากรทางการเแพทย์ เครื่องมือ และโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุขหยุดชะงัก ส่งผลให้ทรัพยากรมีไม่เพียงพอ

ผู้ป่วยจึงใช้เวลารอการรักษานานขึ้น และยังผลักให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าสู่โรงพยาบาลเอกชน เพราะให้รายได้มั่นคงกว่า

ขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจส่งผลให้สัดส่วนคนว่างงานสูงขึ้น อัตราความยากจนและความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มตาม การไม่มีประกันสุขภาพยิ่งซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้ 

ในระหว่างปี 2009-2015 สัดส่วนประชากรที่ไม่ได้รับบริการสุขภาพและทันตกรรมเพิ่มสัดส่วนครัวเรือนยากจนหรือเสี่ยงยากจนเพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.3% เป็น 3.6% สัดส่วนครัวเรือนที่ล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มจาก 3.5% เป็น 5% 

ครัวเรือนที่ล้มละลายส่วนมากอยู่ในกลุ่มครัวเรือนยากจน มีฐานรายได้อยู่ในระดับควินไทล์รายได้ล่างสุด มีภาระค่าใช้จ่ายจากยามากที่สุด 

แต่เดิมระบบสุขภาพในไซปรัสก็ไม่ได้ถือว่าดีมาก แม้มีประกันสุขภาพของรัฐ แต่ประชากรที่มีสิทธิต้องร่วมจ่าย จึงมีช่องว่างการเข้าถึงบริการสุขภาพระหว่างคนที่มีรายได้สูงและรายได้น้อย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านสุขภาพเท่าที่ควร โรงพยาบาลรัฐจึงมีปัญหาด้านคุณภาพบริการ ทั้งยังไม่มีระบบกำกับค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชน 

อย่างไรก็ดี ในปี 2019 เมื่อผ่านพ้นวิกติเศรษฐกิจ รัฐบาลแห่งไซปรัสเริ่มดำเนินโครงการ General Health System (GHS) เน้นสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนทุกคนในประเทศ ปรับปรุงคุณภาพการบริการทางการแพทย์ และยกระดับบทบาทของหน่วยงานผู้ซื้อบริการ หรือ Health Insurance Organization ในการซื้อบริการด้านสุขภาพจากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนให้กับประชาชนเข้าถึงบริการ

GHS ยังวางหลักเกณฑ์จัดสรรงบประมาณรัฐบาลรายปี เพื่อสนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพให้กับประชาชน แทนที่จะให้ประชาชนร่วมจ่ายตามอัตรารายได้อย่างเดิม และยังเน้นเพิ่มการเข้าถึงระบบสุขภาพในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อย

"นี่เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ตั้งแต่ไซปรัสได้รับเอกราช (จากอังกฤษในปี 1960) ไม่ใช่แค่เพราะเรามีประกันสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคน ลดเวลารอของผู้ป่วย แต่ยังลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน และคุ้มครองทางการเงินให้กับทุกคน" Marios Kouloumas ประธานสมาคมผู้ป่วยแห่งสหพันธรัฐไซปรัส ระบุ

การปฏิรูปด้านสุขภาพ ยังทำให้ไซปรัสสามารถรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 ได้ดีระดับหนึ่ง แต่ยังมีความท้าทายรออยู่ โดยเฉพาะความสามารถของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการลงทุนด้านสุขภาพในระยะยาว และทำให้การปฏิรูประบบสุขภาพประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย เพื่อมุ่งหน้าสู่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

รัฐบาลไซปรัสยังต้องพัฒนาระบบสุขภาพอีกมาก ทั้งเรื่องการสร้างเครือข่ายและความเชื่อมโยงของหน่วยบริการ เพิ่มคุณภาพการบริการ และเพิ่มงบประมาณโครงการหลักประกันสุขภาพและการลงทุนด้านสาธารณสุข  รวมทั้งพัฒนาหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ซ์้อบริการแทนประชาชนให้เข้มแข็งยิ่งกว่าเดิมด้วย