ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รายงาน State of Universal Health Coverage in Africa เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์การเข้าถึงบริการสุขภาพในทวีปแอฟริกา โดยระบุว่า มีประชาชนราวครึ่งหนึ่งของทวีปแอฟริกา หรือกว่า 600 ล้านคน ที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ

รายงานดังกล่าวจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระ ภายใต้คณะกรรมาธิการการประชุมด้านสุขภาพนานาชาแห่งแอฟริกา (Africa Health Agenda International Conference : AHAIC) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-10 มี.ค. ผ่านช่องทางออนไลน์ และมีการเผยแพร่รายงานในระหว่างการจัดงาน 

การประชุมมีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน จาก 98 ประเทศในแอฟริกาและนานาชาติ จากหลายภาคส่วน ทั้งผู้นำทางการเมือง องค์กรด้านการพัฒนา ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ได้พูดคุยกันในประเด็น “Decade for Action: Driving Momentum to Achieve UHC in Africa” หรือการผลักดันเป้าหมายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในแอฟริกา 

รายงาน State of UHC ระบุว่า ระบบสุขภาพในแอฟริกายังไม่สามารถตอบรับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะคนจน คนพิการ และกลุ่มคนเปราะบาง 

บริการสุขภาพในแอฟริกาครอบคลุมประชาชนในระดับ "ต่ำ" มีประชากรเพียง 48% หรือประมาณ 615 ล้านคนในทวีป ที่เข้าถึงบริการสุขภาพที่ตนต้องการ

ขณะที่คุณภาพของบริการยังถือว่าย่ำแย่ การบริการสุขภาพสำหรับผู้หญิงและเด็กยังมีปัญหา มีผู้หญิงเพียง 49% ที่พึงพอใจต่อบริการด้านการวางแผนครอบครัวในระหว่างปี 2015-2019

"ตอนนี้มีประชากรประมาณ 600 ล้านคนทั่วทวีปแอฟริกา ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เราต้องเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุข อุปกรณ์การแพทย์ ยา และการอบรมบุคลากรทางการแพทย์" นายอูฮูรู เคนยัตตา (Uhuru Kenyatta) ประธานาธิบดีของเคนยากล่าวในระหว่างการเปิดงาน 

อย่างไรก็มี ยังพอเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้าง เช่น ประชากรที่ล้มละลายเพราะค่ารักษาพยาบาลมีจำนวนลดลงในทุกปี แต่ก็ยังถือว่ามีจำนวนมาก อยู่ที่ 15 ล้านคน หรือประมาณ 1.4% ของประชากรทั้งทวีป

ก่อนหน้านี้ ผู้นำประเทศในทวีปแอฟริกาหลายคนแสดงเจตจำนงค์ที่จะบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2030 ตามเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าหลายประเทศจะบรรลุเป้าหมายได้ หากมีเจตจำนงค์ที่มั่นคง และมีบุคลากรด้านการแพทย์ที่มีศักยภาพ 

รายงานดังกล่าวเสนอให้รัฐบาลทุกประเทศให้ความสำคัญกับการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบปฐมภูมิ ซึ่งเป็นรากฐานของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ลงทุนด้านสุขภาพให้มากขึ้น

เช่น เพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะ โดยเฉพาะในด้านการให้บริการปฐมภูมิ ลงทุนในเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพในระบบสุขภาพ สร้างธรรมาภิบาลและความน่าเชื่อถือ 

นพ.กิธีนจี กิทานี (Githinji Gitahi) ซีอีโอขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Amref Health Africa และผู้ร่วมจัดทำรายงาน State of UHC กล่าวถึงโรคระบาดโควิด 19 ซึ่งเผยให้เห็นช่องว่างในระบบสุขภาพของแอฟริกาและโลก และเป็นกรณีศึกษาที่ยืนยันว่าทุกประเทศควรจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เร็วที่สุด 

โรคระบาดทำให้ผู้นำหลายประเทศหันมาสนใจนโยบายด้านสุขภาพ ที่ต้องการันตีบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ เข้าถึงง่าย และมีราคาไม่แพง  

"เราหวังว่ารายงานฉบับนี้ จะทำให้เห็นโรดแมปที่จะพาประเทศในแอฟริกาบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แล้วเราจะสามารถขยับจากคำมั่นสัญญา ไปสู่การปฏิบัติ" นพ.กิธีนจีกล่าว

ขณะที่ นพ.ธีโดรส อัดฮานอม กีเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพการผลิตและกระจายวัคซีนก็มีความสำคัญไม่แพ้การพัฒนาบริการสุขภาพ 

"เราเห็นปัญหาหลายอย่างในช่วงโรคระบาด ตั้งแต่เรื่องการกระจายพีพีอี ไปจนถึงวัคซีน ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งมีศักยภาพการผลิตและกระจายวัคซีนไม่เท่ากับประเทศพัฒนา ประเทศในแอฟริกาต้องมีการพัฒนาศักยภาพในจุดนี้ เพื่อความมั่นคงของระบบสุขภาพ" นพ.ธีโดรส ระบุ