ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศ.นพ.ประเวศ วะสี เคยนิยามสถานการณ์ของสังคมไทยในขณะนี้ว่าเป็น “Social Disintegration” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “การสลายตัวทางสังคม”

อาจารย์ประเวศ มองว่า ทุกวันนี้สังคมไทยเป็นสังคมที่ส่วนต่างๆ หลุดออกจากกัน ทำให้ทุกอย่างปราศจากความต่อเนื่องและขาดพลัง สภาพการเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้ พลังแห่งการถักทอ ของภาคีเครือข่ายในวงกว้าง เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเกิดเป็นพลังและสร้างรูปธรรมความเปลี่ยนแปลงได้จริง

คำนิยามเรื่อง “Social Disintegration” ของอาจารย์ประเวศ สอดรับกับบทวิเคราะห์ของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ประเมินสถานการณ์ของประเทศก่อนจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เอาไว้ว่า ...

ขณะนี้สถานการณ์ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และฉับพลัน การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 จึงต้องทำให้ได้มากกว่าแนวทางหรือความฝัน

นั่นหมายถึงต้องเป็นแผนที่จับต้องได้จริงๆ

ในขณะที่การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 กำลังดำเนินไป “The Coverage” มีโอกาสได้พูดคุยกับ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะแม่ทัพองค์กรสานพลัง ซึ่งถือเป็นพี่ใหญ่ในการ “ชักชวน” องค์กรทุกภาคส่วนเข้ามาพูดคุยกัน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะร่วมกัน

Thailand Big Issues

นพ.ประทีป บอกกับ “The Coverage” ว่า จากมุมมองที่ถ่ายทอดเป็นบทความสู่สังคมของอาจารย์ประเวศ วะสี ที่มองว่า ทุกวันนี้สังคมไทยกำลังเป็นสังคมที่ส่วนต่างๆ หลุดออกจากกัน จึงได้มีการชักชวนหน่วยงานที่ “มีจุดแข็ง” ที่แตกต่างกันเข้ามาพูดคุยกัน

ประกอบด้วย สภาพัฒน์ฯ โดยมูลนิธิพัฒนาไท ซึ่งมีจุดแข็งด้านการวางแผน-กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ที่ให้น้ำหนักความสำคัญกับมิติทางการเมือง-เครือข่ายท้องถิ่น มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ในฐานะองค์กรวิชาการ และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งมีประสบการณ์เป็นนักสานพลัง ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย และมีเครื่องมือภายใต้การจัดกระบวนการการมีส่วนร่วม

จนกระทั่งได้ข้อสรุปจากการหารือวงเล็กร่วมกันว่า จะมีการหยิบยกและ เปิดพื้นที่ ให้กับประเด็นใหญ่ระดับประเทศ (Thailand Big Issues) ที่ต้องการวิธีการและทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไข โดยจะทำงานผ่านกระบวนการที่เรียกว่า เวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย

เวทีดังกล่าวจะมีการเชื้อเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ รวมถึงเยาวชน-คนรุ่นใหม่ เข้ามาถกแถลงร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทาง-วิธีการทำงาน ตลอดจนจัดทำเป็นข้อเสนอต่อสังคม ที่จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาหรือประเด็นเหล่านั้นให้สำเร็จ โดยช่วงแรกคุยกันว่าจะเริ่มจากการจัด 3 เวที ในทุก 1-2 เดือน

สำหรับ “เวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย” เบื้องต้นจะเริ่มจัดใน 3 ครั้ง ได้แก่ ...

ครั้งที่ 1 “เค้าโครงร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13” ที่สภาพัฒน์กำลังทำอยู่

ครั้งที่ 2 “การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น” หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้วและสถาบันพระปกเกล้ากำลังจะชวนผู้บริหารท้องถิ่นตั้งวงคุย

ครั้งที่ 3 “การสร้างเครือข่ายของคนทำงานรุ่นใหม่ในพื้นที่ โดยเวทีสุดท้ายนี้ สช.จะเป็นแม่งานในการจัด

ออกแบบ อนาคตจังหวัด ด้วยประชาชน

สำหรับเวทีแรกจะพูดคุยกันถึง เค้าโครงร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13”  โดยจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือน มี.ค. 2564

เบื้องต้นทางสภาพัฒน์ฯ ได้วางกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ไว้แล้ว โดยจะทำใน 4 มิติ ได้แก่ 1. เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค 3. วิถีชีวิตที่ยั่งยืน 4. ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ

ทั้งหมดนี้ครอบคลุม “13 หมุดหมาย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน”

นพ.ประทีป มองว่า ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบูรณาการงานระดับพื้นที่-เครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เข้าไปหนุนเสริมกันและกัน เพื่อให้เกิดเป็น “พลังแห่งการถักถอ” และ “รูปธรรม” ตามที่ท่านอาจารย์ประเวศพูดเอาไว้

ในขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ระดับประเทศกำลังเดินหน้าจัดทำกันไป และปกติแต่ละจังหวัดจะมีการจัดทำแผนของแต่ละหน่วยงานแล้วรวมกันเป็นแผนยุทธศาสตร์จังหวัดอยู่แล้ว หากเราใช้โอกาสนี้ผลักดันให้เกิดการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์จังหวัดหรือแผนแม่บท 5 ปีของจังหวัด” ที่ตั้งต้นมาจากประเด็นปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยใช้ สมัชชาสุขภาพจังหวัด เป็นเครื่องมือได้ และขีดกรอบอยู่ภายใต้ 4 มิติ ของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ” ของสภาพัฒน์ฯ ได้ คงจะดีไม่น้อย

กำหนดทิศทางด้วย ‘สมัชชาสุขภาพฯ’

สำหรับ “สมัชชาสุขภาพจังหวัด” เป็นเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ทำงานด้วยกระบวนการ “การมีส่วนร่วม” โดยการชักชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคส่วนต่างๆ ของจังหวัด เข้ามาถกแถลงถึงสถานการณ์-ปัญหา ของพื้นที่ตัวเอง พร้อมวางกรอบกติกาและกำหนดบทบาทของแต่ละหน่วยงานให้กลับไปดำเนินการตาม “มติ” ที่ได้จากการประชุมสมัชชาฯ

นพ.ประทีป เล่าต่อว่า ที่ผ่านมาเรามีสมัชชาสุขภาพจังหวัดทุกจังหวัด แต่ขณะนี้ สช.และเครือข่ายในพื้นที่หลายจังหวัด อยู่ระหว่างการขึ้นรูปสมัชชาสุขภาพจังหวัดใหม่ ขยายการมีส่วนร่วมให้กว้างขวางและครอบคลุมในหลายระดับ

สำหรับสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่ สช.กำลังขึ้นรูปอยู่นั้น จะมีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการ สถาบันวิชาการ ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ผู้แทนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม เข้ามาทำงานร่วมกัน

หากเราใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัด ไปออกแบบอนาคตของจังหวัด โดยสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ของสภาพัฒน์ฯ ก็จะยิ่งทำให้แผนนั้น มีประสิทธิภาพและมีผลต่อการปฏิบัติการภายใต้งบประมาณกระจายอำนาจที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว

กล่าวคือ แผนยุทธศาสตร์จังหวัดหรือแผนแม่บท 5 ปีของจังหวัด ที่ตั้งต้นมาจากกระบวนการการมีส่วนร่วมตามประเด็นของพื้นที่ จะเชื่อมต่อกับแผนงบประมาณของภาครัฐได้อย่างเป็นเนื้อเดียว

นั่นหมายความว่าในระยะเวลา 5 ปีของแผนฯ นี้ แต่ละจังหวัดก็จะมีงบประมาณจากงบกระจายอำนาจในการขับเคลื่อนงาน และถึงแม้ในอนาคต หากมีการปรับเปลี่ยนหรือโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้บริหารหน่วยงานของจังหวัด ก็จะไม่มีผลกระทบต่อแผนระดับจังหวัดให้ต้องสะดุด

ผมเชื่อว่ากระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จากเดิมทำและขับเคลื่อนแต่ละมติสมัชชาสุขภาพจังหวัด จะสามารถขยายไปสู่การทำและขับเคลื่อน แผนแม่บท 5 ปีของจังหวัด ที่ทุกภาคส่วนของจังหวัดเป็นผู้ร่วมสร้างและร่วมกันรับประโยชน์

“ที่สุดแล้ว หากทำได้สำเร็จ ประเทศไทยจะมีความเข้มแข็งและมีความยั่งยืนอย่างแน่นอน” นพ.ประทีป ให้ความมั่นใจ