ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เพียงแค่ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปชนิดที่สัมผัสได้

“ออกกำลังกาย” คือวิทยาศาสตร์ เป็นความจริงโดยสัมบูรณ์ที่จะสร้างความมหัศจรรย์ให้เกิดแก่ชีวิต ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และองค์กรด้านสุขภาพจำนวนมาก จึงร่วมกันรณรงค์อย่างจริงจัง

นอกจากสุขภาพดีที่เกิดขึ้นแก่ตัวของผู้ออกกำลังกายแล้ว ทุกก้าววิ่งหรือทุกการขยับร่างกายยังก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติ นั่นเพราะงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค น้อยกว่างบที่หมดไปเพื่อรักษาพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย “สวนดุสิตโพล” พบว่า ในปี 2020 คนไทยดูแลตัวเองมากขึ้นถึง 68.10% โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่คนไทยให้ความใส่ใจกับสุขภาพตัวเองเป็นพิเศษ กลุ่มตัวอย่างมากถึง 89.48% บอกว่า ดูแลตัวเองเพื่อให้ห่างไกลโควิด-19

ในขณะที่สถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลาย “วัคซีนเข็มแรก” ได้ฉีดลงในคนไทยเป็นที่เรียบร้อย สธ.ยังคงเดินหน้าส่งเสริมการออกกำลังกายต่อไป โดยครั้งนี้แปลกใหม่ไปจากทุกที

นั่นเพราะมีการเสริมแรงทางบวก มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุน มากไปกว่านั้นเป็นการ “ต่อยอด” ความสำเร็จเมื่อ 2 season ที่ผ่านมา

ใช่ ... เรากำลังพูดถึงโครงการ “ก้าวท้าใจ season 3”

“The Coverage” ได้รับเกียรติจาก ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พูดคุยถึงแนวคิด และถ่ายทอดรายละเอียดระหว่างทางของโครงการก้าวท้าใจ

‘Health Point’ เพิ่มแต้มพลังชีวิต

โครงการก้าวท้าใจ เป็นโครงการส่งเสริมในแง่นโยบายของ สธ. เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ โดยโครงการดังกล่าวดำเนินมาแล้วถึง 2 season แล้ว มีการทบทวน-ปรับปรุง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ดร.สาธิต บอกว่า เป้าประสงค์หลักของโครงการนี้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายเป็นประจำจน “ติดเป็นนิสัย” โดยไม่จำเป็นต้องมีใครมาคอยกระตุ้นเตือน โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความรู้สึกตื่นเต้นในการบันทึกข้อมูลตัวเอง

นอกจากนี้ ยังมีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นสีสันให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ

“ถ้าเราสามารถดึงให้เขาเริ่มต้นนับหนึ่งกับการออกกำลังกายได้ เราก็จะสามารถเพิ่มตัวเลขของคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอในประเทศไทยได้อย่างมหาศาล” ดร.สาธิต ระบุ

รมช.สธ. ให้ภาพต่อไปว่า ผลตอบรับจาก season ก่อนๆ นั้นค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่ดี ใน season แรก มีผู้เข้าร่วมเป็นบุคลากร ข้าราชการในกระทรวง หรืออาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) โดยเน้นที่ไปการเดิน-วิ่ง

แต่เมื่อถึง season 2 มีการเพิ่มจำนวนชนิดการออกกำลังกาย เช่น โยคะ เวทเทรนนิ่ง ปั่นจักรยาน เมื่อจำนวนชนิดเพิ่มขึ้น ผู้เข้าร่วมโครงการจึงหลายหลาย โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 8 แสนคน

สำหรับการดำเนินโครงการ season 3 จะมีการสะสม “Heath Point” เป็นหลัก เมื่อสะสมครบถ้วนตามกำหนดก็จะมีรางวัล เช่น บัตรกำนัลที่สามารถนำไปแลกได้ตามร้านค้าที่สนับสนุนโครงการ

ตรงนี้คิดว่าจะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้สึกตื่นเต้นในการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น โดยจะเพิ่มกลุ่มนักศึกษาตามสถาบันต่างๆ เพื่อให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

“ชื่อโครงการคือ 100 วัน 100 กิโลเมตร ฉะนั้นหากผู้เข้าร่วมคนใดสามารถสะสมแต้มการวิ่งได้ถึง 100 กิโลเมตร ได้เป็น 1 หมื่นคนแรก ก็จะได้รางวัล และ Health point ด้วย” ดร.สาธิต ระบุ

ดร.สาธิต กล่าวต่อไปว่า ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ประชาชนออกกำลังกายได้ยากขึ้นเนื่องจากมีข้อจำกัด แต่หลังจากที่สถานการณ์เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะตอบสนองกับผู้ที่อยากออกกำลังกาย สะสมตัวเลขของตนเอง

เขา ขยายความว่า ในอดีตทางกรมอนามัยได้ทำโครงการมาก่อนหน้านี้ เช่น โครงการ 10 ล้านครอบครัวไทย ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โครงการหมอชวนวิ่ง ซึ่งก็จะเป็นลักษณะของการวิ่งและจบลง แต่โครงการก้าวท้าใจนั้น จะเป็นการวิ่งในลักษณะที่บันทึกข้อมูลไว้สำหรับทุกคน โดยมีลักษณะเป็นการวิ่งแบบต่อเนื่อง

“การเริ่มต้นออกกำลังกายนั้นไม่ง่าย เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องดึงให้เขามาเริ่มต้นให้ได้ เมื่อเขาสามารถออกกำลังกายได้อย่างมีความสุขแล้ว ต่อไปเขาจะสามารถออกกำลังกายได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมีใครมาเชิญชวน หรือมีกิจกรรมจูงใจใดๆ” ดร.สาธิต กล่าว

สร้าง Big Data เชื่อมข้อมูลสุขภาพไทย

ดร.สาธิต บอกอีกว่า เบื้องต้นได้มีการวางแผนไว้ว่า ข้อมูลจากโครงการนี้จะนำไปเป็นข้อมูลสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ โดยจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปรวมกับข้อมูลกับข้อมูลพฤติกรรมอื่นๆ ที่ สธ.มีอยู่ เช่น บันทึกการให้นมบุตร เด็กเล็ก ของกรมอนามัย

จากนั้น ก็จะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าไปยังชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของ สธ. เพื่อจัดระบบ ซึ่งจะช่วยให้สามารถฉายภาพ “ข้อมูลสุขภาพในบ้าน” ของคนไทยทั้งประเทศได้   

ทั้งนี้ หากสามารถทำให้สำเร็จได้ในภาพใหญ่ มั่นใจว่าจะสามารถลดอัตราการเจ็บป่วยได้ หรือผู้ที่เจ็บป่วยก็จะใช้เวลาในการรักษาน้อยลง ตรงนี้ถือเป็นโครงการที่ส่งเสริมและป้องกัน ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดทรัพยากรประเทศ ทั้งในด้านงบประมาณ คน หน่วยบริการ หรือสิ่งที่ได้ทุ่มเทให้กับการรักษาพยาบาลได้ในระยะยาว

“การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ และสามารถบริหารอารมณ์ได้ ก็จะทำให้ชีวิตเรามีความสุขอย่างยั่งยืน” ดร.สาธิต ย้ำ

ดีเดย์ก้าวท้าใจ เริ่มเก็บแต้มตั้งแต่ 1 มี.ค.นี้

สำหรับโครงการ “ก้าวท้าใจ Season 3” ประชาชนทั่วประเทศสามารถลงทะเบียนและเก็บสะสมแต้มสุขภาพ (Health Point) ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และสามารถร่วมกิจกรรม 100 วัน 100 กิโลเมตรได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. - 8 มิ.ย. 2564

ประชาชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่าน Line ID @thnvr เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมได้ทั้งสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ ซึ่งมีการคัดกรองสุขภาพโดยการประเมินค่าดัชนีมวลกาย ส่งผลและรายงานผลการออกกำลังกาย เพิ่มรูปแบบกลุ่มได้อีกด้วย

ในส่วนของรางวัลสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นการออกกำลังกายของประชาชนเพิ่มมากขึ้น จะแบ่งรางวัลเป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1. รางวัลสำหรับผู้ที่สามารถพิชิต 100 กิโลเมตร จำนวน 1 หมื่นคนแรก 2. การจับรางวัลสำหรับผู้พิชิต 100 วัน 100 กิโลเมตร 3. การใช้ Health Point แลกรับของรางวัล